วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เชอร์ล็อก โฮล์ม แรงบันดาลใจสู่การสร้างสรรค์(ดัดแปลง)







 ✎ บทความ โดย   Cylinly 



               ถ้าจะพูดถึง “เชอร์ล็อก โฮล์ม” แล้วละก็ เชื่อว่าทุกคนในที่นี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก จริงไหมคะ? บทประพันธ์สุดคลาสสิกนี้สร้างสรรค์ขึ้นจากปลายปากกาของเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ นักเขียนและคุณหมอชาวสกอตต์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  วรรณกรรมอมตะเรื่องนี้โด่งดังและประทับใจผู้อ่านเป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้เขียนจะได้เสียชีวิตลงไปแล้วในปี ค.ศ. 1930 แต่เหล่าผู้ชื่นชอบย่อมไม่ต้องการให้วรรณกรรมที่ตนรักตายตามไปด้วย จึงเกิดเป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ที่ทั้งหยิบยกและมีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮล์มมากมายทีเดียว


               ตัวละครเชอร์ล็อก โฮล์มเป็นนักสืบชาวลอนดอนผู้ปราดเปรื่อง ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล(อนุมาน) ที่อาศัยจากหลักฐานและการสังเกตอย่างคาดไม่ถึงมาใช้คลี่คลายคดีต่าง ๆ  โดยในเกือบทุกตอนจะเล่าเรื่องจากมุมมองของเพื่อนคู่หู คู่จิ้น (อุ๊ปส์) ของโฮล์ม คือ ดร. จอห์น เอช. วัตสัน หรือ หมอวัตสัน นั่นเอง


พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮล์ม



               ความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮล์ม ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริง จนถึงขั้นมีคนส่งจดหมายไปหา แถมยังมีพิพิธภัณฑ์กับอนุสาวรีย์เป็นของตัวเองอีกด้วย  เรื่องราวของเขาถูกนำไปสร้างเป็นทั้งละครและภาพยนตร์มากมาย จนหนังสือกินเนสส์บุ๊กบันทึกไว้ว่า “เชอร์ล็อก โฮล์มเป็นตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด”


ผู้แสดงเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มในอดีต

               มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้านำเรื่องราวมายำ เอ้ย! มาสร้างสรรค์เป็นแบบฉบับใหม่อย่างนี้ จะไม่ผิดลิขสิทธิ์ของต้นฉบับเหรอคะ?  คำตอบคือไม่เลยจ้า เพราะตอนนี้เชอร์ล็อก โฮล์มได้กลายเป็น ลิขสิทธิ์สาธารณะ ไปแล้ว  งานทั่ว ๆ ไป(รวมถึงงานวรรณกรรม) ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย  ซึ่งเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์เสียชีวิตมากว่า 80 ปีแล้ว ผลงานเชอร์ล็อก โฮล์มเกือบทุกตอนของเขาจึงถูกจัดเป็นผลงานสาธารณะ ยกเว้น 10 เรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์หลังปี ค.ศ. 1923 ที่จะยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2022




               ดังนั้นจึงมีทั้งนิยาย การ์ตูน ทีวีซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือสื่ออื่น ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจ(ดัดแปลง)มาจากเชอร์ล็อก โฮล์มมากมาย  และบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องที่เราเองก็คาดไม่ถึงเลยก็ได้ค่ะ







ภาพยนตร์ Sherlock Holmes


               ในเวอร์ชันของภาพยนตร์ เชอร์ล็อก โฮล์มได้ถูกถ่ายทอดออกมาแล้ว 2 ภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาคดับแผนพิฆาตโลก และภาคเกมพญายมมรณะ  ซึ่งในภาพยนตร์นี้ได้หยิบยกโฮล์มมานำเสนอแบบตรงตัว แม้จะไม่ได้ถอดเรื่องราวมาจากในหนังสือแบบเป๊ะ ๆ แต่ก็ได้รับอิทธิพลมาค่อนข้างมาก  ในหนังเราจึงเห็นเชอร์ล็อกกับวัตสันในแบบคลาสสิก ย้อนไปยุคสมัยเดียวกับที่แต่ง เป็นที่ถูกอกถูกใจแฟน ๆ ที่ชื่นชอบโฮล์มแบบดั้งเดิม






ทีวีซีรีส์ Sherlock


               ทีวีซีรีส์อันโด่งดังจากอังกฤษ ในเรื่องนี้ได้ดัดแปลงให้โฮล์มกับวัตสันอยู่ในยุคปัจจุบัน จึงมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเกี่ยวข้องด้วยมาก เราจะเห็นเชอร์ล็อกใช้สมาร์ทโฟนในการหาข้อมูลแทบจะทั้งเรื่อง จากเบาะแสที่เป็นนาฬิกาพกก็เปลี่ยนมาเป็นโทรศัพท์มือถือ   ซีรีส์นี้สามารถนำบทประพันธ์ดั้งเดิมมาประยุกต์ โดยไม่ทำให้ใจความสำคัญหายไป  และยังมีมุกตลกแทรกอยู่ตลอดเวลา  เป็นโฮล์มกับวัตสันอีกเวอร์ชันหนึ่งที่แฟน ๆ ติดกันงอมแงม แม้จะมีเพียงซีซันละ 3 ตอนเท่านั้น






Elementary


               เรื่องราวของในอีกแบบฉบับหนึ่ง ที่แม้ชื่อซีรีส์จะไม่ใช้ชื่อตัวละครเอกแต่ก็คือเรื่องราวของโฮล์มกับวัตสันเช่นกัน  ในเรื่องนี้แหวกไปตรงที่วัตสันเป็นคุณหมอหญิง และเปลี่ยนชื่อจากจอห์น เป็น โจนส์  เนื้อเรื่องก็ถูกปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น  เวอร์ชันนี้ให้เชอร์ล็อกทำงานเป็นที่ปรึกษาในกรมตำรวจอังกฤษ ที่ย้ายมาอยู่นิวยอร์คเพื่อบำบัดอาการติดยา โดยมีหมอโจนส์เป็นผู้ดูแลและกลายเป็นผู้ช่วยสืบคดีไปโดยปริยาย  คู่ปรับของโฮล์มฉบับคลาสสิกอย่าง มอริอาตี้ ก็ปรากฏในเวอร์ชันนี้ด้วย






House MD


               ซีรีส์เรื่องนี้เล่าถึงคุณหมอขากระเพกคนหนึ่งในแผนกพิเศษของโรงพยาบาลที่มีหน้าที่รักษาโรคประหลาด หรือโรคที่คนอื่นรักษาไม่ได้ ดูแล้วเหมือนไม่ค่อยเกี่ยวกับโฮล์มเท่าไร แต่ความจริงแล้วได้รับอิทธิพลมาเต็ม ๆ ค่ะ ตั้งแต่ชื่อ เฮ้าส์ ที่ตั้งล้อกับ โฮล์ม (เข้าใจคิดนะคะ) นิสัยที่ชอบใช้ยา(ติดยา)เหมือนกัน บ้านเลขที่เดียวกัน เลือกรับงานเฉพาะที่ตัวเองสนใจเหมือนกัน  ที่สำคัญคือทักษะการประมวลเหตุและผล(อนุมาน) ที่อาศัยจากการสังเกตอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมไปถึงที่อยู่อาศัยหรือปูมหลัง เพื่อนำมาวินิจฉัยและทำการรักษาโรค  และอีกคนที่ขาดไม่ได้คือ เพื่อนสนิทของเฮ้าส์ที่เป็นคุณหมอเหมือนกันชื่อเจมส์ วิลสัน  ดู ๆ ไปเริ่มคล้ายแล้วใช่ไหมคะ





               ไม่ใช่แค่ชาวยุโรปเท่านั้นที่อินกับวรรณกรรมเรื่องนี้ เพราะการ์ตูนญี่ปุ่นแนวสืบสวนสอบสวนชื่อดัง ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจจากเชอร์ล็อก โฮล์มเช่นกัน



ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน


               เรื่องราวของ คุโด้ ชินอิจิ นักเรียนม.ปลายผู้มีความสามารถด้านการสืบสวน ที่ถูกองค์กรร้ายทำให้เขากลายร่างเป็นเด็ก 7 ขวบ เขาจึงใช้ชื่อใหม่ว่า “เอโดงาวะ โคนัน” คอยไขคดีต่าง ๆ พร้อมกับหาวิธีกลับร่างเดิม




               โคนันนั้นได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮล์มค่อนข้างมากทีเดียวค่ะ ทั้งบุคลิกของตัวละครหลัก ชื่อของตัวละครที่นำมาจากชื่อกลางของเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์  และคำพูดติดปากที่โคนันชอบพูดอย่าง “หากตัดความเป็นไปไม่ได้ออกให้หมด สิ่งที่เหลืออยู่แม้ไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นความจริงเสมอ” ก็เป็นคำพูดที่โฮล์มเคยพูดไว้กับหมอวัตสัน องค์กรชายชุดดำที่เป็นตัวร้ายหลักในเรื่อง ก็เปรียบได้กับมอริอาตี้ในเชอร์ล็อก โฮล์ม  ทั้งสองเรื่องนี้จึงมีความคล้ายกันหลายส่วน แต่ในความคล้ายก็มีความต่างตรงที่เชอร์ล็อก โฮล์มจะให้อารมณ์เรื่องที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่มีมุกขำขันมากนัก ในขณะที่โคนันเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก จึงเบาสมองมากกว่า





               ในไทยเองก็ได้รับอิทธิพลมาเช่นกัน การเข้ามาในยุคแรก ๆ ของอิทธิพลเชอร์ล็อก โฮล์มทำให้เกิดเป็นกระแสนิยายสืบสวนสอบสวน หรือวรรณกรรมแนวรหัสคดีขึ้นในไทยเลยทีเดียว



นิทานทองอิน หรือประพฤติการณ์ของนายทองอิน รัตนะเนตร์


               เรื่องนี้เป็นบทประพันธ์ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ตั้งแต่สมัยยังทรงเป็นมกุฏราชกุมาร โดยลงพิมพ์ในทวีปัญญารายเดือน ระหว่างพ.ศ. 2447-2448 และเป็นนิยายสืบสวนสอบสวน(รหัสคดี)ที่มีตัวละครต่อเนื่องชุดแรกในไทยอีกด้วย




               ตัวเอกในเรื่องนี้ชื่อนายทองอิน รัตนะเนตร์ มีอาชีพนักสืบ เขามีภาพลักษณ์คล้ายโฮล์ม แต่เป็นโฮล์มสไตล์สยามเมืองยิ้ม สวมชุดราชปะแตน นุ่งโจงกระเบน สูบกล้องยาสูบ  เป็นภาพความเท่แบบคุณหลวงไทยสมัยก่อนเลยค่ะ นายทองอินมีเพื่อนสนิทคู่ใจชื่อนายวัด ซึ่งคล้ายกับคุณหมอวัตสันของโฮล์มนั่นเอง  นายวัดเป็นผู้เล่าเรื่องการสืบสวนคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยนายทองอินจะใช้ไหวพริบ การสังเกต และสติปัญญาขบคิดปัญหาต่าง ๆ จนสามารถคลี่คลายคดีได้


               ความน่าสนใจของบทประพันธ์นี้คือ การนำเรื่องราวมาดัดแปลงให้เป็นแบบขนบไทย ๆ และเรียงร้อยได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการนำตำนานที่อิงภูติผีปีศาจมาประยุกต์ อย่างตอนนากพระโขนงที่สอง หรือนำมุมมองการแพทย์และวัฒนธรรมสากลมาประสมรวมอย่างน่าทึ่ง เช่น ตอนการฆาตกรรมด้วยเข็ม






               และโฮล์มเรื่องสุดท้ายที่จะกล่าวถึง เป็นการนำโฮล์มมาประยุกต์รวมกับความแฟนตาซีและเรื่องลึกลับในแบบนิยายสอบสวน อันเป็นเอกลักษณ์ของ สำนักพิมพ์พูนิก้า ได้แก่


 


  วัตสัน&โฮล์ม ถอดรหัสยีนส์ฆาตกรรม และ 1880 วัตสัน&โฮล์ม ตุ๊กตากลคู่คนอัจฉริยะ


               โฮล์มที่ถูกถ่ายทอดผ่านสองยุคสมัย คือโฮล์มในยุคคลาสสิกตามต้นฉบับ ที่ถูกตีความให้เป็นแฟนตาซีมากขึ้น โดยให้วัตสันเป็นตุ๊กตากลแทนที่จะเป็นมนุษย์จริง ๆ และเรื่องราวภาคต่อในยุคปัจจุบัน ที่วัตสันกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ร่วมสืบคดีคู่กับ “เฌอลัญจ์ โฮล์ม อนุมานสกุล” เด็กสาวผู้สืบเชื้อสายมาจากเชอร์ล็อก โฮล์มในยุค ค.ศ. 1880 แต่แน่นอนว่าไม่ว่าจะยุคสมัยไหน เรื่องราวก็ถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อเรื่องที่ลุ้นระลึก รวมกับเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติสไตล์สาย Black Fantasy อีกด้วย

                นอกจากนี้ ทางพูนิก้าเองยังได้ต่อยอดเรื่องราวของโฮล์มยุคปัจจุบันภายใต้คอนเซ็ปต์ "จะเป็นอย่างไร หากโฮล์มที่เรารู้จัก ไม่ได้มีแค่คนเดียว?!" จนทำให้เกิดเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของโฮล์มนานาชาติที่มาจากการคัดสรรนักสืบอัจฉริยะจากทั่วทุกมุมโลก รวมตัวกันเป็น "โฮล์ม สมาพันธ์คนอัจฉริยะ" เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของเชอร์ล็อค โฮล์มคนก่อน และได้ออกผลงานมาเป็น Special Book ที่มีทั้งตัวนิยายและการ์ตูนอยู่ในเล่มเดียว เล่าเรื่องเกี่ยวกับโฮล์มแต่ละประเทศกับการไขคดีอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ มีทั้งหมด 2 เล่ม แบ่งเป็นเรื่องราวของโฮล์มฝั่งโลกตะวันออกและโลกตะวันตก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโฮล์มจากประเทศไทยของเราด้วยล่ะค่ะ


    





               จะเห็นว่าวรรณกรรมอมตะนั้นจะคงอยู่ในใจผู้อ่านเหนือกาลเวลา และนอกจากจะสืบทอดส่งผ่านให้รุ่นลูกหลานได้มีโอกาสอ่านวรรณกรรมที่ดีแล้ว เชอร์ล็อก โฮล์มก็ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สืบต่อความคิดสร้างสรรค์ ให้ผู้อ่านได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ถ่ายทอดสู่สังคมต่อไปอีกด้วย  ดังนั้น หากเรามีความชื่นชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราสามารถนำสิ่งนั้นมาประยุกต์ ต่อยอด ให้เกิดเป็นผลงานในแบบฉบับของตัวเราเอง ที่อาจจะกลายเป็นความอมตะต่อไปในอนาคตได้เช่นเดียวกัน






✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎











ไม่อยากพลาดบทความดี ๆ กดติดตาม Punica LINE official คลิก!   เพิ่มเพื่อน