วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เป็นไปได้ไหมที่จะนอนไม่หลับแบบ “ภาม คนรับจ้างตาย” ในโลกความจริง








✎ บทความโดย Poriuz's Tales








         หากใครเคยได้มีโอกาสอ่านซีรีส์ “ภาม คนรับจ้างตาย” ก็จะรู้จักตัวละคร “ภาม” ตามที่ “วาฬน้ำเงิน” ได้เขียนไว้ก็คือ...เขาจะสามารถนอนหลับได้ก็ต่อเมื่อเขาตายเท่านั้น 

         แต่ลองมาคิดกันเล่น ๆ ดูไหมคะ ว่า...คนที่จะกลายเป็นพวกนอนไม่หลับตลอดชีวิตแบบภาม จะมีจริงเหรอ?
         คนที่นอนไม่หลับเลยแบบภามในโลกความจริงนี่มีนะคะ ก็คือคนไข้ที่เป็นโรคที่ชื่อว่า Fatal Familia Insomnia โชคดีของมนุษยชาติที่โรคนี้เป็นแค่โรคทางพันธุกรรมชนิดที่หาได้ยากมาก ๆ เพราะตั้งแต่มีการค้นพบโรคนี้เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เพียง 40 ครอบครัวทั่วโลก และมีผู้ป่วยเพียงแค่ 100 คนเท่านั้นที่เป็นโรคนี้ เรียกได้ว่าอัตราส่วนแบบ 1 ในล้านนั่นเองค่ะ และจะพบในผู้ป่วยที่มีอายุเฉลี่ย 40-50 ปี

         สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ชื่อว่า PrPC กลายเป็นโปรตีนที่ชื่อว่า"พรีออน" (Prion-PrPSC)  ซึ่งถูกค้นพบโดย Stanley Prusiner ในปี ค.ศ. 1982 โปรตีนที่กลายพันธุ์นี้จะเพิ่มปริมาณและทำลายสมองส่วนไฮโปทาลามัสที่ควบคุมเรื่องการนอนหลับ

         โดยอาการหลักของโรคนี้ คือ นอนไม่หลับ ซึ่งจะส่งผลให้ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เหงื่อออกมากผิดปกติ เกิดภาวะสูญเสียการประสานงานของกล้ามเนื้อและควบคุมการเคลื่อนไหว โดยอาการของโรคจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

 ระยะที่ 1 

         นอนไม่หลับแบบไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยมีอาการตกใจกลัวและเสียขวัญ รวมทั้งมีอาการหวาดกลัววิตกต่าง ๆ
         ระยะนี้กินเวลาประมาณ 4 เดือน

 ระยะที่ 2 

         อาการหวาดวิตกและหวาดกลัวรุนแรงขึ้น เริ่มเห็นภาพหลอนจากการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง
         ระยะนี้กินเวลาประมาณ 5 เดือน

 ระยะที่ 3 

         น้ำหนักตัวผู้ป่วยเริ่มลดลง ผู้ป่วยเริ่มสูญเสียการควบคุมตัวเอง เช่น เสียการทรงตัวจนเดินไม่ได้ สูญเสียความสามารถในการประสานการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อันเป็นผลจากการนอนไม่หลับอย่างสมบูรณ์
         ระยะนี้กินเวลาประมาณ 3 เดือน

 ระยะที่ 4 

         ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานจากกลุ่มอาการสมองเสื่อม ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง อาการที่มักพบ เช่น สูญเสียความสามารถในการจำ การใช้ความคิด และการเรียนรู้สิ่งใหม่ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านบุคลิกภาพ เช่น ขี้หงุดหงิด เฉื่อยชา หรือเมินเฉย

         การเสื่อมของสมองนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน อาการหลง ๆ ลืม ๆ จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะจำเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย ทั้งเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องราวในอดีตที่นานกว่านั้นด้วย หนักไปกว่านั้น อาจจะจำไม่ได้ว่า อาบน้ำอย่างไร ใส่เสื้ออย่างไร  หรือไม่สามารถสื่อสารได้เป็นประโยค และผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นใด ๆ
ระยะนี้กินเวลา 6 เดือน

         หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

         โดยเนื้อสมองของผู้ป่วยจะถูกทำลาย รูปร่างผิดรูปทั้งสมอง ทั้ง ๆ ที่โรคอื่นไม่ทำให้สมองผิดรูปร่างขนาดนี้ แต่เพราะพรีออนที่เพิ่มจำนวนมากเกินไปและแพร่กระจายไปทั่วทั้งสมอง ทำให้เซลล์สมองโป่ง เต็มไปด้วยของเหลว โปรตีนพรีออนจับตัวกันเป็นร่างแหเป็นก้อนที่ทำลายเนื้อสมอง ผู้ป่วยก็จะมีอาการหลังเซลล์สมองถูกทำลายต่างๆ กันไป

         ส่วนการรักษานั้น ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาสำหรับโรคนี้ ซ้ำร้ายที่ยานอนหลับกลับเร่งอาการของโรคนี้ให้เร็วกว่าเดิม
แล้วถ้าอาถรรพ์แบบภามมีจริง ภามในโลกความจริงต้องทนกับอะไรบ้าง?

         ภามในโลกความจริงนอกโลกนิยายของพูนิก้า อาจจะดีกว่าตรงที่ไม่มีโปรตีนอะไรนั่นมาคอยทำลายสมองเหมือนคนที่เป็นโรคนี้ แต่อาการนอนไม่หลับก็ทำให้สมองเสื่อมหนักได้มากเหมือนกัน เปอร์บอกเลยว่ามันไม่เหมือนในนิยายที่ภามทำอะไรได้เหมือนคนฉลาดไขคดีได้หรอก มันทรมานมากกว่านั้นเยอะค่ะ






         คนที่อดนอนมากที่สุดในโลก คือ “แรนดี้ การ์ดเนอร์” หนุ่มน้อยวัย 17 ชาวอเมริกา เขาได้สร้างสถิตินี้ในปี 1964 เป็นสถิติโลกของการไม่หลับไม่นอนเลยเป็นเวลา 11 วันติด

         โดยแรนดี้มีลักษณะอาการในแต่ละวัน ดังนี้

 วันที่ 2-3 

         ร่างกายอ่อนล้า สายตาไม่โฟกัส อ่านหนังสือไม่ได้ พูดจาติด ๆ ขัด ๆ โดยเฉพาะวลียาก ๆ
         อารมณ์แปรปรวนขี้หงุดหงิด สมรรถภาพความคิดถดถอย เพ่งสมาธิไม่ได้
         ความจำสับสน

 วันที่ 4-6 

         ประสาทหลอน เห็นป้ายจราจรเป็นตัวคนบ้าง หลงคิดว่าตัวเองเป็นนักฟุตบอลผิวสีบ้าง
         เกิดอาการหวาดระแวง พารานอยด์ คิดว่ามีคนจะทำร้ายตลอดเวลา

 ใกล้ ๆ วันสุดท้าย (วันที่ 11) 

         แทบจะหมดสิ้นความเป็นคน พูดไม่รู้เรื่องอย่างถึงที่สุด นั่งบื้อเหมือนผีตายซาก ไม่รับรู้ ไม่ตอบสนองใด ๆ

         ลองคิดสภาพภามเป็นแรนดี้ การ์ดเนอร์สิ สภาพคงดูแย่มากทีเดียว





การนอนหลับแบบเต็มอิ่มที่ภามไม่เคยได้สัมผัสนั้นเป็นอย่างไร?

         แม้ภามจะได้นอนหลับบ้างเวลาตาย แต่นั่นก็คือการนอนหลับไม่เพียงพอ

         บางทีเปอร์ก็ไม่สงสัยเท่าไหร่ ว่าทำไมภามถึงคงสภาพอยู่ในอายุ 16 ตลอดกาลแบบนี้ ความลับของการนอนหลับก็คือ เราควรจะได้นอนหลับให้ครบไซเคิล (Cycle Time : เวลาครบรอบของการทำบางสิ่ง) ถึงจะเรียกได้ว่านอนหลับเต็มอิ่ม ยิ่งเด็กที่จัดว่าอยู่ในวัยกำลังสูงนั้น ยิ่งควรนอนให้เต็มอิ่ม

         ภามได้คำสาปนี้ติดตัวมาตอนอายุ 16 ทำให้เขาไม่ตายก็จริง แต่ก็ทำให้นอนไม่หลับไปด้วย เปอร์จำไม่ได้ว่าการนอนหลับของหนุ่มน้อยคนนี้นานสุดคือติดต่อกันกี่ชั่วโมง แต่รู้ว่ายิ่งเขาตายแบบเดิมซ้ำ ๆ ก็ยิ่งทำให้เวลาในการได้นอนของเขาน้อยลงเรื่อย ๆ  ในภาค 2 ปริศนาชายผมแดง อยู่ที่การยิงตัวตาย 1 ครั้ง ทำให้เขานอนได้แค่ 1 นาที นั่นแปลว่า ถ้าเขาจะนอนหลับด้วยการยิงตัวตายให้ครบชั่วโมง เขาต้องหลับแล้วตื่น ตื่นแล้วหลับ ยิงตัวตายซ้ำ ๆ ถึง 60 ครั้งเลยทีเดียว

         และยิ่งภามอยู่นาน เปอร์บอกเลยค่ะว่าเขาจะยิ่งไม่ได้สัมผัสการนอนแบบครบไซเคิลแน่นอน







พูดถึงไซเคิลการนอนแล้ว เรามาทำความรู้จักกับมันซักหน่อยดีกว่า


         การนอนหลับของคนเรานั้นถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ หรือ stage วนไปวนมาเป็นไซเคิล เริ่มจากช่วงแรกก็คือช่วงหลับตื้น จะอยู่ที่ stage 1-2 เริ่มตั้งแต่หัวถึงหมอน ถ้ามีใครมาแตะเนื้อต้องตัวเราจะรู้สึกตัวและตื่นในช่วงนี้

         โชคร้ายของภามและคนที่เป็นโรค Fatal Familia Insomnia เพราะการนอนหลับของพวกเขาไม่สามารถผ่าน stage นี้ไปได้

         การได้นอนครบ 1 ชั่วโมงของภามที่เป็นการหลับแล้วตื่น 60 ครั้งจนครบ 1 ชั่วโมงแบบนี้  ไม่ถือว่าเขาสามารถผ่าน stage 2 ไปได้นะคะ เพราะพอตื่น มันจะกลับไป stage 1 ใหม่ และนั่นทำให้เขาจัดว่าเป็นพวกอดนอนค่ะ

         ยกเว้นว่าภามจะไปรับจ้างตายที่มีผลทำให้สุดท้ายแล้ว เขาสามารถนอนหลับต่อเนื่องได้อย่างน้อย 30-40 นาที นั่นคือจะทำให้เขานอนจนครบ stage 2 ได้ค่ะ

         แต่การหลับแบบเต็มอิ่มมีทั้งหมด 4 stage นะ ดูเหมือนภามต้องตายแบบแปลก ๆ กว่าจะได้นอนหลับจริง ๆ ซึ่งยากเหลือเกินค่ะ สงสารเขานะ




         Stage 3-4 ที่นาน ๆ ทีภามจะมาถึงตรงนี้ได้ เรียกว่าช่วงหลับลึก ช่วงนี้จะตื่นยากมาก ต่อให้มีคนมาเขย่าตัว มาทำอะไรแปลก ๆ กับเรา ก็ยากที่จะตื่นค่ะ พอผ่านช่วงนี้สักพักประมาณ 30 นาที เราจะเข้าสู่ช่วงที่เรียกว่าหลับฝัน แล้วก็วนกลับไปที่ stage 1 ไซเคิลใหม่แบบนี้ไปเรื่อยๆ 

         สรุปง่าย ๆ ก็คือ เราจะมีช่วง หลับตื้น หลับลึก หลับฝัน วนไปวนมาเป็นไซเคิลแบบนี้ ไซเคิลละ 90 นาทีตลอดทั้งคืน

         ถ้าเรานอน 8-9 ชั่วโมง เท่ากับว่าเราสามารถสำเร็จไซเคิลถึง 5-6 รอบทีเดียว

         เมื่อไหร่ที่ภามเล่าว่าเขา 'ฝัน'  เราควรแสดงความยินดีกับเขา เพราะว่าเขาอาจจบไซเคิลได้ตั้ง 1 รอบแน่ะ การสำเร็จไซเคิลได้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างที่บอกว่าชั่วโมงนอนสะสมไม่สำคัญเท่าชั่วโมงนอนที่ยาวนานติดต่อกัน เพราะต่อให้ภามมีชั่วโมงนอนสะสม 1 ชั่วโมง แต่เขายังไม่สามารถผ่าน stage 1 ได้เลยด้วยซ้ำ

         ช่วงที่เราหลับ ร่างกายจะหลั่ง growth hormone ออกมา ถ้านอนไม่พอร่างกายจะไม่โต บางทีนี่อาจจะเป็นผลต่อเนื่องของคำสาปที่มีผลข้างเคียงให้ภามนอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับภามก็นอนไม่พอ ทำให้ร่างกายของเขาไม่หลั่ง growth hormone และร่างกายก็หยุดเติบโต สตาฟไว้ที่อายุ 16 ยังไงก็อย่างงั้น




         แถมอีกเรื่องนะคะเมื่อเรานอนไม่พอ ร่างกายจะยิ่งหลั่งฮอร์โมนเกรลินออกมา ซึ่งเป็นต้นเหตุของความหิว ทำให้เราหิวบ่อยขึ้น พอหิวก็ต้องกิน แล้วเราก็จะอ้วน หนำซ้ำเซลล์ยังเผาผลาญพลังงานน้อยลง มีแนวโน้มที่ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันเพิ่มขึ้นอีก อ้วนแน่ ๆ งานนี้

         ภาพลักษณ์ของภาม จริง ๆ อาจต้องออกมาอ้วนฉุ หยุดโต และเกิดอาการเกี่ยวกับระบบสมองอย่างที่ว่ามา ในโลกของความจริง การอดหลับอดนอนนั้นทรมานมาก ๆ ดังนั้นถ้าเรายังปกติดีก็ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนะคะ จะได้ไม่ทรมานแบบภาม...









✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎











ไม่อยากพลาดบทความดี ๆ กดติดตาม Punica LINE official คลิก!   เพิ่มเพื่อน





 Sticker Line "ภาม แกะน้อยขี้เซา" ดาวน์โหลดได้ที่ http://bit.ly/2iNKNTc 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น