นวนิยายสืบสวนสอบสวนนี่อาจเรียกได้ว่าผู้แต่งจะต้องขุดจิตวิญญาณของตัวเองขึ้นมาเขียนเลยทีเดียว เพราะต้องใช้ความทุ่มเทในการหาข้อมูลและคิดวิเคราะห์กับเนื้อเรื่องจนปวดหัว เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดูน่าเหลือเชื่อทั้งที่ยังคงสมเหตุสมผลและอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ (แค่อาจคิดไม่ถึงนิดหน่อยเอ๊ง)
จนหลายครั้งที่นักอ่านนั้นอินจนคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในนิยายคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง! แหม แอดไม่ได้โม้นะ เพราะมีคนประเภทนี้อยู่ไม่น้อยเลยล่ะ (หนึ่งในนั้นคือแอดที่บางทีก็เผลออินเกินไป อิอิ) แอดเลยขอยกวรรณกรรมสืบสวนสอบสวนชื่อดังที่ดังจนคนคิดว่าเป็นเรื่องนี้มาเล่าให้ฟังเพื่อยืนยันคำพูดของตัวเอง! ว่าแต่จะมีเรื่องอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย!
เชอร์ล็อก โฮล์ม คือนิยายนักสืบที่โด่งดังมาก ชนิดที่ว่าคงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักนิยายเรื่องนี้ ถูกเขียนขึ้นโดย "เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์" แต่เนื้อหาด้านในเกือบทุกตอนจะถูกบรรยายโดยมุมมองของคู่หูคนสนิทของโฮล์ม นั่นก็คือ "ดร.จอห์น เอช วัตสัน" หรือคุณหมอวัตสันที่แฟนๆ นิยายคุ้นเคยกันนั่นเอง โดยเนื้อหาในนิยายเริ่มในช่วงปี ค.ศ.1878 และสิ้นสุดคดีสุดท้ายในปี ค.ศ.1914
ถ้าถามว่าเรื่องนี้โด่งดังจนคนคิดว่าเป็นเรื่องจริงขนาดไหน ก็ดังไม่มากหร๊อกกกก แค่เคยมีคนเขียนจดหมายขอความช่วยเหลือถึงโฮล์มไปที่บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ซึ่งเป็นที่อยู่ปลอมๆ ที่ถูกใช้ในนิยาย แล้วจดหมายทั้งหมดก็ถูกตีกลับเพราะที่อยู่นั่นไม่มีอยู่จริงแค่นั้นเอ๊งงง และก็ได้มีการก่อตั้งสมาคมเชอร์ล็อก โฮล์มขึ้นในกรุงลอนดอน มีการก่อตั้งหน่วยลาดตะเวนถนนเบเกอร์ขึ้นในนิวยอร์ก และมีสมาคมเกี่ยวกับโฮล์มอยู่อีกทั่วโลก
ยัง! ยังไม่หมด เพราะด้านหน้าสถานีเบเกอร์ยังมีการจัดตั้งอนุเสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮล์ม และสถานฑูตอังกฤษในประเทศรัสเซียก็มีการตั้งอนุเสาวรีย์ของทั้งโฮล์มและวัตสันไว้ในสถานฑูตอีกด้วย (นี่ชักจะไปกันใหญ่) และในปี ค.ศ.2002 สมาคมเคมีแห่งราชสำนักอังกฤษก็ได้มอบตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้กับโฮล์ม ในฐานะ "นักสืบคนแรกที่นำเอาวิชาเคมีไปประยุกต์ใช้กับการสืบสวน" ครั้งที่ครบรอบ 100 ปีของนิยายตอนหมาผลาญตระกูล และครบรอบ 100 ปีของการรับบรรดาศักดิ์อัศวินของเซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ แถมโฮล์มยังเป็นตัวละครในนิยายตัวแรกที่มีพิพิธภัณฑ์เป็นของตัวเองอีกด้วย!
นี่ขอย้ำนะว่าเป็นตัวละครในนิยายที่ถูกแต่งขึ้น อ่านไปแอดเองก็ชอบคิดว่าเป็นคนจริงอยู่เรื่อย ก็ดูชื่อเสียงของโฮล์มสิ อะไรจะยิ่งใหญ่ปานนั้นนน
☆ คินดะอิจิ โคสุเกะ ☆
คินดะอิจิถือว่าเป็นนักสืบเชื้อสายญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เขียนขึ้นโดย "โยโคมิโซ เซชิ" ตอนปี พ.ศ.2479 จุดเด่นของนิยายเรื่องนี้คือการผูกปมในคดีฆาตกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน หลอกล่อนักอ่านให้จับเรื่องราวไม่ถูก บางตอนยังแฝงความเชื่อ ขนบธรรเนียมต่างๆ ของญี่ปุ่นเอาไว้อีกด้วย โดยคินดะอิจิก็มักจะใช้ไหวพริบผสมโชคและลางสังหรณ์ในการไขคดี
คินดะอิจิ โคสุเกะ เป็นนักสืบที่มีฝีมือการสืบสวนขัดกับบุคลิกอารมณ์ขันแถมยังชอบพูดติดอ่าง ทรงผมยุ่งอย่างกะรังนก และสวมชุดฮาตามะที่เป็นชุดญี่ปุ่นโบราณ ต่างจากนักสืบคนอื่นๆ ที่เราคุ้นตาอย่างสิ้นเชิง แต่ก็เพราะแบบนี้แหละถึงทำให้นักอ่านหลายคนตกหลุมรักเขา และยังถูกพูดถึงในหมู่นักอ่านที่ชอบรสชาติการสืบสวนที่แปลกใหม่จนถึงทุกวันนี้
และถ้าให้พูดถึงนามสกุล "คินดะอิจิ" เด็กรุ่นหลังๆ อาจจะคุ้นกับชื่อการ์ตูน "คินกะอิจิกับฆาตกรรมปริศนา" มากกว่า แต่ก็เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ได้อ้างถึงนิยายคินดะอิจิฉบับออริจินอล โดยใช้ตัวเอกอย่าง คินดะอิจิ ฮาจิเมะ ให้เป็นหลานของคินดะอิจิ โคสุเกะนั่นเอง และนอกจากนี้ก็ยังถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครซีรีส์อีกด้วย
แหม นักสืบสายเลือดเอเชียของเราก็ไม่เบาเหมือนกันนะเนี่ย ทุกวันนี้ชื่อของคินดะอิจิก็ติดหูไปแล้วด้วยสิ และขอย้ำอีกครั้งว่านี่คือเรื่องที่แต่งขึ้น ไม่ใช้สแตนอิน ใช้แต่ตัวแสดงแทนในหนังในละครเท่านั้นเอง
☆ แอร์กูล ปัวโร ☆
อีกหนึ่งนักสืบชื่อดังของโลกใบนี้ แอร์กูล ปัวโร (Hercule Poirot) ยอดนักสืบชาวเบลเยี่ยม เป็นผลงานการเขียนของราชินีแห่งนิยายอาชญากรรม "อกาฮา คริสตี" ที่โด่งดังในฐานะนักเขียนนิยายแนวสืบสวนสอบสวน โดยตอนนี้ผลงานทั้งหมดของคริสตี้ก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยทั้งหมดแล้ว
แอร์กูล ปัวโร (ชื่ออ่านแบบเบลเยี่ยม) จะมีลักษณะและบุคลิกแตกต่างจากภาพนักสืบสุดเท่ในหัวของเรานิดหน่อย (อีกแล้ว) เพราะเขาเป็นผู้ชายที่ค่อนข้างจะมีอายุ ตัวอ้วน และมีหนวดแข็ง (เพราะทาน้ำมันเอาไว้ให้มันสวยๆ) แต่เห็นแบบนี้ก็เท่ไม่หยอกเลยนะ เพราะเขามีสิ่งที่เรียกว่าเซลล์สมองสีเทาในการไขคดี จนได้รับคำชื่นชมจากตำรวจสกอตแลนด์ยาร์ด และผู้ช่วยในการสืบคดีของเขาก็คือ ผู้กองเฮสติงค์และเจนมาเบล
แอร์กูล ปัวโร ปรากฏตัวในนิยายของอกาธา คริสตี มากกว่า 30 เรื่องและเรื่องสั้นอีก 50 กว่าเรื่อง รวมถึงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกนับไม่ถ้วน เรียกว่าเป็นตัวละครเจ้าประจำที่แจ้งเกิดให้กับคริสตีได้เลย แถมคริสตียังเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของสมาคมนักเขียนเรื่องลึกลับแห่งอเมริกาอีกด้วย!
เห็นภายนอกเป็นคุณลุงท่าทางใจดีแบบนี้ แต่ปัวโรก็เป็นนักสืบที่เก่งสุดๆ ทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองต่างๆ ที่น่าเหลือเชื่อ แต่แอดก็ยังคงจะย้ำอีกรอบว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นเช่นเดียวกัน อิอิ
☆ ทองอิน รัตนะเนตร์ ☆
มาถึงในประเทศไทยกันบ้าง บ้านเราก็มีนวนิยายนักสืบที่โด่งดังเหมือนกันนะเออ จะเรียกได้ว่าเป็นนักสืบคนแรกของไทยเลยก็ว่าได้ เขาคนนี้ชื่อ ทองอิน รัตนะเนตร์ จากพระราชนิพนธ์ของ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือว่ารัชกาลที่ 6 เรื่อง พฤติการณ์ของนายทองอิน รัตนะเนตร์ (เรียกง่ายๆ ว่านิทานทองอินก็ได้นะ)
นายทองอินนั้นมีต้นแบบมาจากเชอร์ล็อก โฮล์มที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ทั้งเนื้อเรื่องและตัวทองอินเองจะผสมผสานขนบธรรมเนียมแบบไทยเอาไว้ โดยเขาจะสวมเสื้อราชปะแตนและนุ่งโจงกระเบน สูบกล้องยาสูบ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงนำเรื่องราวต่างๆ มาประยุกต์และดัดแปลงให้เข้ากับเรื่องแบบไทยๆ ได้อย่างลงตัว ทั้งองค์ประกอบ ฉาก เรื่องราวที่อิงตำนานของไทย จนได้มาเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนชิ้นนี้
รัชกาลที่ 6 ทรงใช้นามปากกาในการแต่งเรื่องนี้ว่า "รามจิตติ" ซึ่งนิทานทองอินประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 15 เรื่อง พร้อมภาพประกอบที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่าน แต่ไม่อาจสืบทราบได้ว่าใครเป็นคนเขียนภาพประกอบชุดนี้ขึ้นมา... ลึกลับเหมาะสมจะเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนเลยมั้ยล่ะ
และด้วยความสนุกของนิยายเรื่องนี้บวกกับขนบธรรมเนียมของไทยที่เราคุ้นเคยกันดีแทรกอยู่ในเรื่อง ก็อาจจะทำให้ใครหลายคนที่เคยได้ยินเรื่องราวของนายทองอิน คิดว่าเป็นตำนานที่เคยเกิดขึ้นจริงของไทยไปซะนี่ จริงๆ ก็เป็นเรื่องแต่งขึ้นนั่นแหละน้า
เป็นไงบ้าง มีใครเคยอ่านเรื่องไหนแล้วอินจนคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงบ้างมั้ยเอ่ย สารภาพมาซะดี ๆ 55555 จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกที่เราจะอินกันเบอร์นั้น ก็นักเขียนเขาเก่งจริงๆ นี่นา กว่าจะสั่งสมประสบการณ์ให้เขียนและคนอ่านได้อินกันขนาดนี้ แอดนี่ขอปรบมือให้รัวๆ เลยค่ะ!
ใครยังไม่เคยอ่านเรื่องไหนก็ลองไปหาอ่านกันได้น้า จะได้รู้ว่าสนุกจนสมจริงขนาดไหน 5555 การอ่านหนังสือนี่ดีจริงๆ แอดฟันเฟิร์ม ได้จินตนาการ ได้รู้มุมมองหลากหลาย ได้คิดตาม ได้อินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ (นี่ก็ชอบคิดว่าตัวเองเป็นตัวเอกอยู่เรื่อย)
ก็สนุกดีเหมือนกันนะคะ ว่ามั้ย?
✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎ ✎
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น